Leverage Risk

Leverage คือ อัตราร้อยละการเปลี่ยนแปลงของกำไรสุทธิต่ออัตราร้อยละการเปลี่ยนของยอดขาย ยกตัวอย่าง Leverage ที่มีค่าเท่ากับ 1 หมายถึง เมื่อยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้น 1% จะทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1% เท่าๆกัน ดังนั้น หาก Leverage มีค่ามากกว่า 1 ก็หมายความว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงของกำไรสูงกว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของยอดขาย ในทางตรงกันข้าม หาก Leverage มีค่าน้อยกว่า 1 หมายถึง อัตราการเปลี่ยนแปลงของกำไรน้อยกว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของยอดขาย

Leverage = %Δ Net incomes / %Δ Revenues

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ Leverage ของแต่ละบริษัทแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ สัดส่วนระหว่างต้นทุนผันแปรกับต้นทุนคงที่ และดอกเบี้ยจ่าย โดยสามารถแบ่ง Leverage ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

Operating Leverage สามารถวัดได้จาก อัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้ก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษี ต่ออัตราการเปลี่ยนแปลงของยอดขาย ซึ่งบริษัทที่มี Operating Leverage สูงนั้น จะเป็นบริษัทที่มีต้นทุนในส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่ค่อนข้างมาก ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมสถานีโทรทัศน์ ซึ่งโดยมากต้นทุนจะเป็นต้นทุนค่าสัมปทาน และต้นทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่

Operating Leverage = %Δ Earning before interest expenses and taxes / %Δ Revenues

Financial Leverage เป็นการวัดความผันแปรของกำไรสุทธิ จากการใช้เงินกู้มาเป็นตัวเร่งทางการเงิน โดย Financial Leverage วัดได้จากอัตราร้อยละการเปลี่ยนแปลงของกำไรสุทธิต่ออัตราร้อยละการเปลี่ยนแปลงของรายได้ก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษี โดยบริษัทที่มีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ซึ่งก็คือบริษัทที่มีหนี้สินมาก จะมี Financial Leverage ที่สูง

Financial Leverage = %Δ Net incomes / %Δ Earning before interest expenses and taxes

และเมื่อนำ Operating Leverage มาคูณกับ Financial Leverage ก็จะสามารถคำนวณหา Total Leverage ของบริษัทนั้นได้

เหมือนกับเหรียญที่มีสองด้าน บริษัทที่มี Leverage สูง หมายความว่า เมื่อยามที่ยอดขายตกลง จะส่งผลให้กำไรของบริษัทมีการปรับตัวลดลงอย่างมาก กล่าวคือ บริษัทที่มี Leverage สูงจะมีความเสี่ยงทางด้านการดำเนินธุรกิจ หรือ Business risk ที่สูงตามไปด้วย ดังนั้นบริษัททีมี Leverage ที่สูงที่สุด อาจไม่ได้เป็นบริษัทที่ดีที่สุดเสมอไป

ที่มา http://www.one-asset.com
 

SWOT Analysis

หัวใจของธุรกิจอยู่ที่การจัดการ(Management) ซึ่งครอบคลุมการจัดการกับ 4 M คือ Marketing, Money, Material และ Man power รู้เขา รู้เรา ศึกร้อย บ่ พ่ายในทางปฏิบัติ รู้เขา จะเป็นเรื่องยากสำหรับวิสาหกิจขนาดเล็ก เนื่องจากไม่สามารถศึกษาข้อมูลของคู่แข่งขันได้อย่างเป็นระบบ ไม่มีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้าตลอดจนไม่มีโอกาสและเวลา ดังนั้น การ " รู้เรา" จึงเป็นทางเดียวที่สามารถทำได้ และจะเป็นประโยชน์อย่างคาดไม่ถึงถ้าทำได้

SWOT Analysis คือปัจจัย 4 ประการ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพภายในของกิจการ ประกอบด้วย Strength Weakness Opportunities และ Threat

Strength และ Opportunities คือปัจจัยเสริมสร้างศักยภาพขององค์กร Weakness และ Threat คือปัจจัยบั่นทอนศักยภาพขององค์กร จึงเป็นเหมือนขั้ว + และ ขั้ว - ที่ปะปนคละเคล้ากัน ซึ่งถ้าเราเพิ่มปัจจัยบวกและลดปัจจัยลบให้ได้มากที่สุด ศักยภาพของธุรกิจก็จะมีความเข้มแข็งโดยปริยาย
Strength คือจุดแข็ง จุดที่ได้เปรียบหรือจุดที่สามารถแข่งขันได้ Strength ของบริษัทอยู่ที่ การเงิน ความเป็นผู้นำทางการตลาด ภาพพจน์ที่มีมานาน ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ คุณภาพของวัตถุดิบ ทักษะของคนงาน ฯลฯ

Opportunities คือโอกาสหรือช่องทางที่สามารถจะนำมาใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจของเราได้ เช่น ส่วนแบ่งทางการตลาดที่ยังพอมีที่ว่างให้เราแทรกเข้าไป การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มากระทบจนคาดว่าว่าคู่แข่งต้องปรับตัว การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจจะพลิกสถานการณ์ทางการตลาดให้กับสินค้าของเราได้

Threat คือสิ่งที่ธุรกิจอยากหลีกเลี่ยงและไม่อยากพบพาน เพราะหมายถึงผลกระทบทางลบที่จะมีต่อการประกอบธุรกิจ เช่นภาวะถดถอยทางธุรกิจ การเข้าสู่ตลาดของคู่แข่งรายใหม่ๆ ซัพพลายเออร์หรือคู่ค้ามีอำนาจต่อรองมากขึ้น รวมถึงการออกกฎหมาย ข้อระเบียบการใหม่ๆ ของทางการ ซึ่งอาจสร้างกรอบ หรือข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจให้เกิดขึ้นได้

Weakness หมายถึงจุดอ่อนหรือจุดเสียเปรียบ อันจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน เช่น เงินทุน ความสามารถในการจัดการ หรือทักษะทางการตลาด หรือภาพพจน์ของสินค้าเอง

การนำ Swot มาใช้วิเคราะห์ศักยภาพ และปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจการทำ SWOT Analysis ผู้ประกอบการสามารถทำขึ้นเองหรือจัดจ้างบุคคลภายนอกเพื่อป้องกันการลำเอียงเข้าข้างตัวเองก็ได้ภายหลังการทำ SWOT Analysis ผู้ประกอบการจะเห็นจุดดี จุดอ่อน อุปสรรค และโอกาส ได้อย่างชัดเจน โดยหลักการแล้วสิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ ขจัดจุดอ่อน หาทางป้องกันอุปสรรคไว้ล่วงหน้ารวมทั้งเสริมจุดดี หรือพยายามช่วงชิงสร้างโอกาสที่เห็นให้เป็นความจริงในทางปฏิบัติโดยเร็ว
 

วีดีโอให้เช่ารับส่งถึงที่

บทสรุปผู้บริหาร

จากการประเมินมูลค่าการขายวีดีโอของบริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์วีดีโอในปี 2541 นั้น มีการประมาณว่า ตลาดมีมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งประเมินได้ว่าจะเกิดการขายจริงและเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 8,000 ล้านบาท แม้จะประปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ตลาดวีดีโอคงมีการขยายตัวอย่างมาก เพราะมีภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามามากและมีการขานรับจากผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องมีการแข่งขันกันอย่างจริงจัง เพราะมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีมากมาย เช่น คอมพิวเตอร์ เพื่อการเก็บฐานข้อมูลลูกค้าและทำการวิเคราะห์ ประกอบกับปัญหาสภาพการจราจรที่ติดขัดและเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น มีการใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนอย่างประหยัด จึงทำให้ บริษัทวีดีโอทูยู ได้ริเริ่มการทำการตลาดแบบผสมระหว่าง fast food delivery และการให้เช่าวีดีโอเข้าด้วยกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงประเด็นบริษัท วีดีโอทูยู จำกัด ประกอบธุรกิจให้เช่าวีดีโอแบบรับ-ส่งถึงที่ สำหรับผู้อยู่อาศัยในเขตชุมชนขนาดกลาง-ใหญ่ โดยเริ่มจากกรุงเทพฯชั้นในก่อน และมีหลักการดำเนินงานที่แตกต่างจากร้านวีดีโอทั่วไป คือ เน้นบริการรับ-ส่งถึงที่ และมีการให้บริการหน้าร้านเป็นบริการเสริมด้วยบริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้สร้างสรรค์และริเริ่มกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ในธุรกิจนี้ตลอดเวลา และมีส่วนแบ่งการตลาดติดอันดับ 1 ใน 10 ในธุรกิจนี้, ขยายสาขาให้ได้ 50 สาขา, และ สร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจภายในระยะเวลา 5 ปี บริษัทฯ มีความมั่นใจในความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น เนื่องจาก บริษัทฯ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ระบบการบริหารบุคลากรที่เป็นแบบมืออาชีพ และการศึกษาเอาใจใส่ถึงความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอจากการวิเคราะห์อุตสาหกรรมด้วย SPELT, The Five Force Model และ SWOT พบว่าปัจจัยภายนอกโดยส่วนใหญ่จะส่งผลดีต่อธุรกิจการให้บริการเช่าวีดีโอทั้งสิ้น โดยเฉพาะในแง่ของสังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี

นอกจากนี้แล้ว จากการวิเคราะห์อุปสรรคต่างๆ ยังไม่พบอุปสรรคในอุตสาหกรรมที่น่าหนักใจแต่อย่างใดจากการวิเคราะห์คู่แข่งทางตรง สามารถแบ่งตลาดศูนย์เช่าวีดีโอได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม chain store และกลุ่มอิสระ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ผลิตวีดีโอผิดลิขสิทธิ์ ส่วนคู่แข่งทางอ้อม ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์ เคเบิลทีวี และคอมพิวเตอร์ ผลจากการวิเคราะห์สรุปได้ว่า chain store จัดเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของบริษัทฯ เนื่องจากมีการสนับสนุนจากบริษัทต่างชาติ และมีการนำเอา know how เข้ามาใช้ อีกทั้งมีการนำกลยุทธ์การขยายตัวที่รวดเร็วมาใช้เช่นเดียวกับบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีข้อได้เปรียบในแง่ของความยืดหยุ่นที่สูงกว่า และต้นทุนการจัดการสาขาที่ต่ำกว่า เนื่องจากหน้าร้านไม่ต้องใช้พื้นที่มากเพราะเน้นไปที่บริการรับส่งถึงที่ ซึ่งจัดเป็นมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ อีกด้วย

จากการวิจัยการตลาด บริษัทฯ สามารถสรุปกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้คือ ชายและหญิง อายุประมาณ 20 - 40 ปี เป็นโสด รายได้ตั้งแต่ 10,000-40,000 บาท การศึกษาปริญญาตรี และเป็นพนักงานบริษัทเอกชน โดยกลยุทธ์การตลาดที่บริษัทจะนำมาใช้ คือ กลยุทธ์การให้บริการเป็นหลัก และมีเครื่องมือหลักที่ใช้คือ IMC (การสื่อสารทางการตลาดแบบครบวงจร) รูปแบบองค์กรของบริษัทฯ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ รูปแบบองค์กรของร้านสาขา และรูปแบบของสำนักงานใหญ่ สำหรับสาขาแต่ละสาขาจะใช้พนักงานประจำเพียง 4 คนเท่านั้น คือ ผู้จัดการร้าน เจ้าหน้าที่จัดการสินค้า เจ้าหน้าที่ต้อนรับ และเจ้าหน้าที่รับส่งสินค้า ส่วนในกรณีเร่งด่วนหรือเจ้าหน้าที่ประจำไม่อยู่ จะมีเจ้าหน้าที่ part time เพื่อช่วยงาน

สำหรับสำนักงานใหญ่ จะประกอบด้วยส่วนงานหลัก 5 ฝ่าย คือ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป และฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัทฯ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานทั้งในแง่ของความรู้ความสามารถและคุณภาพชีวิต อีกทั้งจะส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมและแสดงออกอย่างเต็มที่เนื่องจากบริษัทฯ เน้นการให้บริการรับ-ส่งถึงที่ การจัดหาทำเลที่ตั้งของสาขาจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจจะทำหน้าที่หาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมในการจัดตั้งสาขาเริ่มแรกจำนวน 9 สาขาซึ่งเมื่อรวมสำนักงานใหญ่แล้ว หน้าร้านทั้ง 10 แห่งจะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30% ของกรุงเทพมหานครชั้นใน และในปีต่อๆไปจะเปิดสาขาใหม่อีกปีละ 10 สาขาจนครบ 50 สาขาซึ่งจะสามารถครอบคลุมพื้นที่ 100% ของกรุงเทพมหานครหมดทุกเขตและสามารถให้บริการลูกค้าอย่างทั่วถึงระบบคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูลเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากต่อความสำเร็จบริษัทฯ โดยระบบดังกล่าวจะสามารถช่วยลดความผิดพลาดและต้นทุน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทฯเงินทุนที่ใช้ในการลงทุนของบริษัทฯ จะมาจากส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด รวมเป็นจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งจะประกอบด้วยผู้ถือหุ้นประมาณ 8-10 คน โดยจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 1 คนใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 25 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ถือหุ้นที่เหลือจะใช้เงินทุนคนละประมาณ 8-10 ล้านบาท บริษัทฯ จะไม่มีการพิจารณาการกู้เงินหรือส่วนของหนี้สินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความเสี่ยงทางการเงิน (Leverage Risk) อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการกู้ยืมมากนัก นอกจากนั้นบริษัทฯ พิจารณาที่จะลงทุนทั้งหมดเต็มจำนวน (100 ล้านบาท) ตั้งแต่เริ่มธุรกิจ โดยจะไม่เพิ่มการลงทุนอีกตลอดระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จากประมาณการงบการเงินพบว่าเงินทุนจำนวนดังกล่าวเพียงพอต่อแผนการขยายตัวของบริษัทเป็นอย่างดี อีกทั้งการลงทุนในลักษณะดังกล่าวจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity Risk) เนื่องจากบริษัทฯ จะมีเงินสดเพียงพอต่อสภาวะคับขันที่อาจเกิดขึ้น และยังสามารถรองรับการขาดทุนในปีเริ่มต้นของธุรกิจได้เป็นอย่างดีการประมาณงบการเงินเป็นไปแบบ conservative โดยประมาณรายรับในระดับที่ต่ำและประมาณรายจ่ายในระดับที่สูง เพื่อความเป็นไปได้ของธุรกิจ ผลจากการประมาณงบการเงินสามารถสรุปได้โดยย่อ ดังนี้

รายได้ในปีที่ 1-5 เป็นดังนี้ 32.7, 84.7, 161.8 , 266.2 และ 386.2 ล้านบาทตามลำดับ

กำไรก่อนหักภาษี ในปีที่ 1-5 เป็นดังนี้ -22.2 , -9.7, 21.4, 79.7 และ 147.7 ล้านบาทตามลำดับ

Payback Period = 3.89 ปี หรือ 3 ปี 11 เดือน

IRR = 38%

NPV = 52.2 ล้านบาท และ 22.2 ล้านบาทที่ Annual Discount Rate = 15% และ 25% ตามลำดับ

Break-Even Number of Members per branch = 710 คนในปีแรก (ไม่รวม fixed cost จาก H/O)

เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการประเมินผลและการควบคุม และบริษัทฯ ยังจัดทำแผนฉุกเฉินสำหรับกรณีต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ที่มา ศุภวุฒิ โลห์ชนะพรเจริญม, กรภัค มิกานนท์ และภีมพงศ์ ชื่อรุ่งเรือง.(2542). "วิดีโอให้เช่ารับส่งถึงที่."โครงการทางธุรกิจประเภทแผนธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
 

อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายดอกหน้าวัว

บทสรุปผู้บริหาร

บริษัท แอนเทอริส จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายดอกหน้าวัว ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตเป็นอุตสาหกรรม โดยมีระบบการจัดการที่ดีตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ การเพาะปลูก ไปจนถึงการบรรจุการขนส่ง และการบริการปัจจุบัน ภาครัฐพยายามที่จะส่งเสริมให้มีการปลูกหน้าวัวเพิ่มมากขึ้น โดยให้ความช่วยเหลือในด้านความรู้ต่างๆ แก่เกษตรกร เนื่องจากหน้าวัวเป็นไม้ดอกที่ให้ผลตอบแทนต่อไร่สูงเมื่อเทียบกับไม้ดอกชนิดอื่นๆ แต่ปัจจุบันการผลิตหน้าวัวก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากการผลิตหน้าวัวต้องใช้เงินทุนเริ่มแรกค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรไม่มั่นใจว่าจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ และ คุณภาพหน้าวัวในปัจจุบันก็ยังไม่สม่ำเสมอ ความหลากหลายของพันธุ์ยังน้อย ทำให้เกษตรกรไม่สามารถต่อรองราคาให้สูงได้ทางบริษัทฯ เล็งเห็นว่า การที่จะพัฒนาคุณภาพดอกหน้าวัวได้ ต้องมีการวางแผน และมีระบบการจัดการที่ดี ซึ่งก็คือ การปลูกในลักษณะอุตสาหกรรม โดยที่จะมีการพัฒนาพันธุ์ขึ้นเอง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความหลากหลายของพันธุ์หน้าวัว ตลอดจนการจัดการการตลาด และการเงินที่ดีบริษัทได้ตั้งชื่อตราสินค้า "Anthurist" เพื่อใช้ในการสร้าง Brand Awareness และสื่อสารถึงภาพและการบริการแก่ลูกค้า เพื่อสร้าง Brand Equity ต่อไป สำหรับสินค้าของบริษัทจะเน้นในด้านมาตรฐานคุณภาพ และความสวยงาม แปลกใหม่ ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยมีราคาที่สูงแต่คุณภาพสูงเช่นกัน (Premium product) และเน้นในด้านการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพแก่ผู้บริโภค ถึงสินค้าของบริษัท ภายใต้ Brand "Anthurist"กลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัทในระยะแรก คือ กลุ่มโรงแรมและร้านดอกไม้ขายปลีกต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปริมาณการใช้ดอกไม้ที่สูง และต้องการดอกไม้ที่มีคุณภาพสูง ในราคาที่เหมาะสมกลยุทธ์ทางการตลาดที่บริษัทใช้คือ เพิ่มปริมาณการใช้ดอกหน้าวัวของกลุ่มเป้าหมายโดยการใช้ทดแทนดอกไม้อื่น ๆ ที่มีปริมาณการใช้มากๆ เช่น กล้วยไม้ กุหลาบ ตลอดจนสร้างทัศนคติใหม่ๆ เกี่ยวกับดอกหน้าวัวที่เหมาะสมกับการตกแต่งสถานที่ หรือการใช้ในกระเช้าดอกไม้ จากทัศนคติเดิมที่ว่า ดอกหน้าวัวใช้เฉพาะในพิธีศพเท่านั้นบริษัทฯ ได้จัดทำแผนการตลาด เช่น การประชาสัมพันธ์ร่วมกับทางโรงแรมหรือร้านดอกไม้ เพื่อจูงใจให้ลูกค้าพิจารณาเลือกใช้ดอกหน้าวัวเพิ่มมากขึ้น จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับหน้าวัว การร่วมงานกับ Wedding Fair ต่างๆ รวมทั้งลงโฆษณาในนิตยสารต่างๆ เพื่อสร้าง Brand Awareness บริษัทฯ มีความพร้อมทั้งด้านความรู้ บุคลากรที่มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญ สำหรับเงินลงทุนประกอบด้วยการลงทุนจากส่วนทุนของผู้บริหาร เป็นจำนวน 15 ล้านบาท และจากการกู้ยืมเงินทุนระยะยาวเป็นจำนวน 10 ล้านบาททั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่า จากความสามารถในการบริหารและแผนการตลาดที่บริษัทจัดทำขึ้น จะสามารถสร้างยอดขายกว่า 8 ล้านบาทในปีแรก และ 27 ล้านบาท ในปีถัดไป ทำให้บริษัทสามารถคืนทุนภายใน 3 ปี มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 30.5% และมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 10.7 ล้านบาท

ที่มา http://www.ismed.or.th
บุญอู๋ แซ่ตั๊น, ชาตรี ฟุ้งเกียรตินำสุข และสิทธิพงษ์ ลีนะพงศ์พานิช.(2545)."อุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายดอกหน้าวัว".โครงการทางธุรกิจประเภทแผนธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
 
 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2011. BOX20-09 - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger