สถานเสริมความหล่อครบวงจร

บทสรุปผู้บริหาร

ในปัจจุบัน ความสวยงามไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับสุภาพสตรีเท่านั้น สุภาพบุรุษก็เริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ หน้าตา ผิวพรรณมากพอสมควร จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ชายของชาติต่างๆ พบว่า เพศชายมีความสนใจในเรื่องสุขภาพและผิวพรรณเป็นอย่างมาก แต่ผู้บริโภคคำนึงถึงภาพลักษณ์ของความเป็นชาย ความเป็นส่วนตัว และบรรยากาศโดยรวมในการเข้ารับบริการสำหรับลูกค้าเพศหญิง ทำให้ผู้ชายไม่กล้ารับบริการร่วมกัน เนื่องจากกลัวเสียภาพลักษณ์ความเป็นชาย

นอกจากนั้นประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีผู้ประกอบการสถานเสริมความหล่อที่สามารถให้บริการเพื่อสนองความต้องการ ของลูกค้าที่เป็นสุภาพบุรุษเลย ถือว่าเป็นช่องว่างของธุรกิจที่มีโอกาสความเป็นไปได้สูง

สถานเสริมความหล่อครบวงจร "David" (David Men Health and Beauty Center) เป็นสถานเสริมความหล่อของเพศชาย สนองความต้องการของลูกค้าเพศชายที่ต้องการรูปลักษณะภายนอกให้ดูดี เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพ ที่ปัจจุบันยังคงมีความต้องการแต่มีผู้ให้บริการไม่ตรงกับความต้องการ

วิสัยทัศน์ (Vision) คือ มนุษย์ทุกคนต้องการให้ตัวเองดูดี ไม่ว่าเพศชายหรือหญิง

Mission คือ เป็นสถานเสริมความหล่อสำหรับผู้ชายครบวงจร โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า

เป้าหมายทางธุรกิจ (Goal) สถานเสริมความหล่อที่มียอดขาย 13 ล้านบาทภายในปีแรกของการเปิดดำเนินการ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของยอดขาย 10% ใน 5 ปีต่อไป ธุรกิจสามารถทำกำไร และมีระยะเวลาในการคืนทุน 2.5 ปี บริษัทจดทะเบียนด้วยทุน 5,000,000 บาท โดยการออกหุ้นจำนวน 500,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท

กลุ่มเป้าหมายของสถานเสริมหล่อนั้น จะเป็นเพศชายที่มีอายุระหว่าง 31 - 60 ปี รายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และการใช้เกณฑ์พฤติกรรมเพื่อแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามรายละเอียดภายในฉบับ ทำให้ได้กลุ่มเป้าหมายของสถนเสริมความหล่อ ดังนี้

กลุ่มเป้าหมายหลัก (Primary Target) คือ ชายที่มีอายุระหว่าง 31 -60 ปี ที่มีรายได้ตั้งแต่ 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และมีความสนใจเรื่องรูปลักษณ์ความงามภายนอก (Beauty Conscious)

กลุ่มเป้าหมายรอง (Secondary Target) คือ ชายที่มีลักษณะทางประชากรศาสตร์เช่นเดียวกับกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่เป็นผู้ที่มีความสนใจเรื่องรูปลักษณ์ความงามภายนอกบ้าง

กลยุทธ์การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของร้าน "David" จะกำหนดความครบวงจรของการให้บริการในระดับสูง คือ มีโปรแกรมที่จะดูแลผิวพรรณและรูปร่างได้ครบทุกส่วนของร่างกาย การกำหนดราคาของการให้บริการโดยใช้กลยุทธ์เพิ่มคุณค่าแก่ลูกค้า (Value Pricing) โดยเน้นการสร้างภาพลักษณ์ของร้านที่เข้าใจในความรู้สึกความต้องการของผู้ชาย จริงๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและบริการ โดยตั้งระดับราคาให้อยู่ในระดับสูง เพื่อสื่อให้ลูกค้ารับรู้สึกได้ถึงความคุณค่าของสินค้าและบริการ

จากข้อมูลลักษณะทางประชากรประกอบการสำรวจกลุ่มเป้าหมายโดยการวิจัยตลาด ทำให้สามารถหาจำนวนกลุ่มเป้าหมายของสถานเสริมความหล่อได้ประมาณ 203,500 คน และจากการสำรวจค่าใช้จ่ายสำหรับการเสริมความงามของกลุ่มตัวอย่างที่เคยมีการ ใช้บริการสถานเสริมความงามทั่วไป เคาน์เตอร์เครื่องสำอาง และสถานเสริมความหล่อ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวประมาณ 1,824 บาทต่อเดือน ดังนั้น มูลค่าตลาดของสถานบริการเสริมความงามสำหรับกลุ่มเป้าหมายสามารถคำนวณได้ โดยมีมูลค่าประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท

จุดมุ่งหมายทางการตลาด (Marketing Objectives) คือ การสร้าง Brand Awareness 40% ของกลุ่มเป้าหมายภายในปีแรก สร้างภาพลักษณ์ (Image) ของร้านให้มีภาพลักษณ์ของสถานเสริมหล่อของชาย นอกจากนั้น ยังสร้างความจงรักภักดีต่อตราสินค้า (Brand Loyalty) เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการใช้บริการซ้ำ และสามารถขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งจะต้องเน้นคุณภาพในการให้บริการเป็นหลักเพื่อให้เกิดการบอกต่อ (Viral Marketing)

ส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix) David จึงเสนอการให้บริการที่ครบวงจร (One-Stop Service) การตั้งราคาที่ใกล้เคียงกัน แต่ให้บริการที่เหนือกว่า จัดการส่งเสริมการขายในช่วงแรกเพื่อให้เกิดความรู้จักในตราสินค้า (Brand Awareness) และทำให้เกิดการทดลองใช้ และมีการส่งเสริมการขายต่อเนื่อง รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

นอกจากนั้น บริษัทเตรียมแผนเพื่อที่จะรองรับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ ยอดขายต่ำกว่าเป้าหมาย, จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว, ราคาของสินค้าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น, การลาออกของพนักงาน, การขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นต้น

ที่มา http://www.ismed.or.th
โสภณ วิจิตรไพศาล และคณะ.(2545) "สถานเสริมหล่อครบวงจร ." โครงการทางธุรกิจประเภทแผนธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
 

Car Care Express

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

Car Care Express เป็นโครงการที่ให้บริการดูแลรักษารถยนต์ถึงสถานที่ทำงานหรือที่พักอาศัยของ ลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ และลดการเสียเวลาของลูกค้าที่ต้องรอคอยตามสถานีบริการต่างๆ โดยมีทั้งบริการเพื่อความสะอาด เช่น การล้างรถและขัดเคลือบสี บริการเพื่อประสิทธิภาพ เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และบริการเพื่อความปลอดภัย เช่น การเปลี่ยนยางรถยนต์

การเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามใช้ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 97 ทำให้ต้องเก็บข้อมูลจากตัวอย่างอย่างน้อย 202 ชุด ในการสำรวจ จะแบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ออกเป็น 10 เขตพื้นที่ โดยแบ่งแบบสอบถามตามจำนวนประชากรในแต่ละเขตพื้นที่ เพื่อใช้พิจารณาพฤติกรรมและความสนใจของผู้บริโภคแต่ละเขตพื้นที่ และนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดกลยุทธ์การเข้าตลาด รวมทั้งการเลือกที่ตั้งสาขาของบริษัทฯ จากการสำรวจจริงได้รับแบบสอบถามที่สามารถนำมาประมวลผลได้ทั้งสิ้นจำนวน 216 ชุด

เมื่อพิจารณาถึงปริมาณรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานครในช่วงปี 2534 - 2543 (อายุรถไม่เกิน 10 ปี) พบว่ามีจำนวน 841,581 คัน เมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลค่าใช้จ่ายและความถี่ในการใช้บริการของผู้บริโภค จากแบบสอบถาม พบว่าขนาดตลาดรวมของการบริการดูแลรักษารถยนต์เป็น 10,354 ล้านบาทต่อปี และเมื่อพิจารณาจากผู้ที่สนใจในบริการ Car Care Express จากแบบสอบถามพบว่า ขนาดตลาดที่มีศักยภาพ (Potential Market) ของ Car Care Express เท่ากับ 5,551 ล้านบาทต่อปี

การแบ่งส่วนตลาดจะพิจารณาจากปัจจัย 2 ประการ คือ สถานที่ที่ผู้บริโภคสนใจรับบริการดูแลรักษารถยนต์ และเขตพื้นที่การรับบริการตามความหนาแน่นของประชากร ตลาดเป้าหมายของ Car Care Express คือ ผู้บริโภคที่มีสถานที่ทำงานอยู่ตามอาคารสำนักงานในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีอาคารจอดรถ หรือผู้โภคที่มีที่อยู่อาศัยเป็นทาวน์เฮาส์หรือบ้านเดี่ยว ซึ่งอยู่ในเขตที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงและปานกลาง โดยกำหนดการวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์เป็น "สะดวก ฉับไว มั่นใจ ได้มาตรฐาน"

Car Care Express จะเสนอบริการดูแลรักษารถยนต์ในด้านบริการล้างรถ บริการขัดเคลือบสีรถยนต์ บริการซักพรมและเบาะ บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรองน้ำมันเครื่อง บริการเปลี่ยนยางรถยนต์ และบริการเบ็ดเตล็ดทั่วไป พร้อมให้ความรู้ในด้านการใช้ผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าควบคู่กันไปด้วย โดยมีค่าบริการที่เทียบเท่ากับราคาตลาดบวกด้วยมูลค่าเพิ่มของความสะดวกที่ ลูกค้าได้รับ โครงการ Car Care Express มีงบลงทุนในปีแรก 13 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 7 ล้านบาท และเงินกู้ 6 ล้านบาท เพื่อลงทุนใน 4 สาขา และเพิ่มเป็น 20 สาขาภายใน 5 ปี โครงการนี้มีมูลค่าปัจจุบันของโครงการที่อัตราส่วนลดร้อยละ 12 เท่ากับ 25.7 ล้านบาท และมีอัตราผลตอบแทนภายในโครงการเท่ากับร้อยละ 35.52

ที่มา http://www.ismed.or.th
เอกสิทธิ์ ลัคนานิธิพันธุ์ และคณะ.(2544)."Car Care Express." โครงการทางธุรกิจประเภทแผนธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
 

ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ "จานสาระ"

บทสรุปผู้บริหาร

ภาพรวมของธุรกิจ


ในปัจจุบัน รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งเวลากลายเป็นข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ทำให้พฤติกรรมต่างๆ ในแต่ละวันต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับข้อจำกัดดังกล่าว รวมถึงพฤติกรรมในการบริโภคอาหารก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จากสรุปภาวะธุรกิจปี 2543 และแนวโน้มปี 2544-2545 ของศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ กล่าวว่า รูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน แปลงไป ทำให้การบริโภคอาหารนอกบ้านและการซื้ออาหารสำเร็จรูปมารับประทานที่บ้านมี แนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดว่าแนวโน้มการรับประทานอาหารนอกบ้านในปี 2544-2545 ยังอยู่ในระดับดี และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะและความเครียดที่มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น แนวโน้มของการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน

โอกาสทางการตลาด

ถึงแม้ว่าแนวโน้มของร้านอาหารเพื่อสุขภาพจะได้รับความนิยมสูงขึ้น แต่ร้านอาหารเพื่อสุขภาพส่วนใหญ่จะเน้นให้บริการอาหารเจ อาหารมังสวิรัติ อาหารชีวจิต และอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก ทำให้ไม่อาจตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ทุกเพศทุกวัยในเวลาเดียวกัน ร้าน "จานสาระ" จึงเล็งเห็นช่องทางในการนำเสนอร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์แบบ

รูปแบบผลิตภัณฑ์

ร้าน "จานสาระ" จะนำเสนออาหารและเครื่องดื่มที่เหมาะสมกับความต้องการของทุกคนในครอบครัว ซึ่งใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่ผ่านการคัดสรรอย่างดี มีคุณค่าครบตามหลักโภชนาการ รสชาติอร่อย ราคายุติธรรม มีรูปแบบการให้บริการที่เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นในด้านของความเป็นผู้เชี่ยว ชาญทางด้านอาหารเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง ผ่านการสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงคุณประโยชน์ของวัตถุดิบแต่ละชนิด ที่นำมาใช้ในการปรุงอาหาร และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและสุขภาพ

เป้าหมาย

ร้าน "จานสาระ" กำหนดเป้าหมายที่รายได้ 20 ล้านบาทสำหรับปีที่ 1 และมีอัตราการเติบโตของรายได้เท่ากับ 8% ตั้งแต่ปีที่ 2 ถึงปีที่ 5 โดยมีอัตรากำไรสุทธิเป็น 20% ของรายได้แต่ละปี นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายระยะยาวที่จะเป็นหนึ่งในใจ (Top of mind) ของลูกค้าเมื่อนึกถึงร้านอาหารเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งไว้ใจได้ทั้งในด้านคุณค่าสารอาหาร กระบวนการผลิต และการบริการ

กลยุทธ์

จากการประเมินตลาดและผลิตภัณฑ์ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ พบว่า ร้าน "จานสาระ" เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีตลาดปัจจุบัน ซึ่งสามารถใช้กลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) โดยแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ (Product Differentiation) พร้อมทั้งผสมผสานกับกลยุทธ์ในระดับหน้าที่ ที่เน้นความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพ (Superior Quality) และความเป็นเลิศทางด้านการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า (Superior Customer Responsiveness) อันจะนำไปสู่ความพึงพอใจของลูกค้าทุกคน

เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ร้าน "จานสาระ" จึงเลือกใช้ส่วนผสมทางการตลาดสำหรับธุรกิจบริการ 7 ประการ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจำหน่าย (Place) การส่งเสริมการตลาด (Promotion) บุคลากร (People) กระบวนการให้บริการ (Process) และลักษณะทางกายภาพ (Physical Evidence) และสำหรับกลยุทธ์การสื่อสารการตลาด จะเลือกใช้การโฆษณาทั้งในวิทยุ นิตยสาร และWeb Site ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและสุขภาพ การส่งเสริมการขายภายในร้าน การแจกแผ่นพับใบปลิว รวมทั้งการลงบทสัมภาษณ์ผู้นำทางความคิดในด้านการรักษาสุขภาพ พร้อมเสนอแนะร้าน "จานสาระ" ในนิตยสารเพื่อสุขภาพทั่วไป

การลงทุน

จัดหาเงินทุนโดยการออกหุ้นสามัญจำนวน 400,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และขอกู้เงินจากธนาคารอีกจำนวน 2,000,000 บาท รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,000,000 บาท

ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ

ภายใต้สถานการณ์ปกติ ร้าน "จานสาระ" จะมีระยะเวลาคืนทุน 3.25 ปี ภายใต้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ที่ระดับ 35.85%


ที่มา http://www.ismed.or.th
นิสา อาภรณ์ธนกุล และคณะ.(2545)." ร้านอาหารเพื่อสุขภาพจานสาระ ." โครงการทางธุรกิจประเภทแผนธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
 

SMEs

SMEs ย่อมาจากภาษาอังกฤษ Small and Medium Enterprises หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า "วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม"

สำหรับความหมายของวิสาหกิจ (Enterprises) ครอบคลุมกิจการ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

1. กิจการการผลิต (Production Sector) ครอบคลุมการผลิตในภาคเกษตรกรรม (Agricultural Processing) ภาคอุตสาหกรรม(Manufacturing) และเหมืองแร่(Mining)
2. กิจการการค้า (Trading Sector) ครอบคลุมการค้าส่ง (Wholesale) และการค้าปลีก (Retail)
3. กิจการบริการ (Service Sector)

ส่วนลักษณะขนาดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กำหนดจากมูลค่าชั้นสูงของสินทรัพย์ถาวร สำหรับกิจการแต่ละประเภท ดังนี้

1. กิจการการผลิต : ขนาดกลาง ไม่เกิน 200 ล้านบาท ขนาดย่อม ไม่เกิน 50 ล้านบาท
2. กิจการบริการ : ขนาดกลาง ไม่เกิน 200 ล้านบาท ขนาดย่อม ไม่เกิน 50 ล้านบาท
3. กิจการการค้า : ขนาดกลางไม่เกิน ค้าส่ง ไม่เกิน 100 ล้านบาท ขนาดย่อม ไม่เกิน 50 ล้านบาท
ขนาดกลาง ค้าปลีก ไม่เกิน 60 ล้านบาท ขนาดย่อมค้าปลีก ไม่เกิน 30 ล้านบาท

ส่วนลักษณะขนาดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กำหนดจากจำนวนการจ้างงาน สำหรับกิจการแต่ละประเภท ดังนี้

1. กิจการการผลิต : ขนาดกลาง ไม่เกิน 200 คน ขนาดย่อม ไม่เกิน 50 คน
2. กิจการบริการ : ขนาดกลาง ไม่เกิน 200 คน ขนาดย่อม ไม่เกิน 50 คน
3. กิจการการค้า : ขนาดกลางไม่เกิน ค้าส่ง ไม่เกิน 50 คน ขนาดย่อม ไม่เกิน 25 คน
ขนาดกลาง ค้าปลีก ไม่เกิน 30 คนขนาดย่อมค้าปลีก ไม่เกิน 15 คน

ความสำคัญของ SMEs ต่อระบบเศรษฐกิจ

SMEs คือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นวิสาหกิจที่มีความเหมาะสม มีความคล่องตัวในการปรับสภาพให้เข้ากับสถานการณ์ทั่วไปของประเทศอีกทั้งยังเป็นวิสาหกิจที่ใช้เงินทุนในจำนวนที่ต่ำกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ และยังช่วยรองรับแรงงานจากภาคเกษตรกรรมเมื่อหมดฤดูกาลเพาะปลูก รวมถึงเป็นแหล่งที่สามารถรองรับแรงงานที่เข้ามาใหม่เป็นการป้องกนการอพยพของแรงงานเข้ามาหางานทำในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งช่วยกระจายการกระจุกตัวของโรงงานกิจการวิสาหกิจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปสู่ภูมิภาค ก่อให้เกิดการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนภูมิภาคและของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

จากการรายงานของธนาคารกรุงเทพ ระบุว่าในปี 2541 วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ซึ่งประกอบด้วย กิจการการผลิต การค้า และธุรกิจบริการ มีจำนวนรวมทั้งสิน 311,518 รายคิดเป็นสัดส่วน 92% ของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศในจำนวนนี้เป็นวิสาหกิจประเภทการค้า (ค้าส่ง ค้าปลีก ภัตตาคารและโรงแรม) มากที่สุด 134,171 ราย คิดเป็น 43 % รองลงมาเป็นภาคการผลิต จำนวน 90,122 ราย คิดเป็น 82.9 % และการบริการ จำนวน 87,225 ราย คิดเป็น 28.7 %

กล่าวโดยสรุป SMEs มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ คือ

1. ช่วยการสร้างงาน
2. สร้างมูลค่าเพิ่ม
3. สร้างเงินตราต่างประเทศ
4. ช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ โดยการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
5. เป็นจุดเริ่มต้นในการลงทุน และสร้างเสริมประสบการณ์
6. ช่วยเชื่อมโยงกับกิจกรรมขนาดใหญ่ และภาคการผลิตอื่น ๆ เช่น ภาคเกษตรกรรม
7. เป็นแหล่งพัฒนาทักษะฝีมือ

ปัญหาและข้อจำกัดของ SMEs ในภาพรวม

1. ปัญหาด้านการตลาด SMEs ส่วน ใหญ่มักตอบสนองความต้องการของตลาดในท้องถิ่น หรือตลาดภายในประเทศ ซึ่งยังขาดความรู้ความสามารถในด้านการตลาดในวงกว้าง โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมขนส่งตลอดจนการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้วิสาหกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในท้องถิ่นหรือในประเทศที่ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้น

2. ขาดแคลนเงินทุน SMEs มักประสบปัญหาการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อมาลงทุนหรือขยายการลงทุนหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั้งนี้เนื่องจากไม่มีการทำบัญชีอย่างเป็นระบบและขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ และต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง

3. ปัญหาด้านแรงงาน แรง งานที่ทำงานใน SMEs จะมีปัญหาการเข้าออกสูง กล่าวคือ เมื่อมีฝีมือและมีความชำนาญมากขึ้นก็จะย้ายออกไปทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ที่มี ระบและผลตอบแทนที่ดีกว่า จึงทำให้คุณภาพของแรงงานไม่สม่ำเสมอการพัฒนาไม่ต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า

4. ปัญหาข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยทั่วไป SMEs มักใช้เทคนิคการผลิตไม่ซับซ้อนเนื่องจากการลงทุนต่ำและผู้ประกอบการ/พนักงานขาดความรู้พื้นฐานที่รองรับเทคนิควิชาที่ทันสมัยจึงทำให้ขาดการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานที่ดี

5. ข้อจำกัดด้านการจัดการ SMEs มักขาดความรู้ในการจัดการหรือการบริหารที่มีระบบใช้ประสบการณ์จากการเรียนรู้ โดยเรียนถูกเรียนผิดเป็นหลักอาศัยบุคคลในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมาช่วยงานการบริหารภายในลักษณะนี้แม้จะมีข้อดีในเรื่องการดูแลที่ทั่วถึง (หากธุรกิจไม่ใหญ่นัก) แต่เมื่อกิจการเริ่มขยายตัวหากไม่ปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีระบบก็จะเกิดปัญหาเกิดขึ้นได้

6. ปัญหาการเข้าถึงบริการการส่งเสริมของรัฐ SMEs จำนวนมากเป็นการจัดตั้งกิจการที่มีรูปแบบไม่เป็นทางการ เช่น ผลิตตามบ้านผลิตในลักษณะโรงงานท้องแถวไม่มีการจดทะเบียนโรงงาน ทะเบียนพาณิชย์ หรือทะเบียนการค้าดังนั้นกิจการโรงงานเหล่านี้ จึงค่อนข้างปิดตัวเองในการเข้ามาใช้บริการของรัฐ เนื่องจากปฏิบัติไม่ค่อยถูกต้องเกี่ยว กับการเสียภาษี การรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม หรือรักษาความปลอดภัยที่กำหนดตามกฎหมาย นอกจากนี้ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนก็เช่นเดียวกัน แม้ว่ารัฐจะได้ลดเงื่อนไขขนาดเงินทุนและการจ้างงาน เพื่อจูงใจให้ SMEsเพียง 8.1 % เท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐ

7. ปัญหาข้อจำกัดด้านบริการส่งเสริมพัฒนาขององค์การภาครัฐและเอกชน การส่งเสริมพัฒนา SMEs ที่ ผ่านมาได้ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมส่งเสริมการส่งออก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมบรรษัท เงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมมีจำนวนมากและกระจายอู่ทั่วประเทศ ประกอบกับข้อจำกัดของหน่วยงานดังกล่าว เช่น ในเรื่องบุคลากร งบประมาณ จำนวนสำนักงานสาขาภูมิภาคการให้บริการส่งเสริมสนับสนุนด้านต่าง ๆ จึงไม่อาจสนองตอบได้ทั่วถึงและเพียงพอ

8. ปัญหาข้อจำกัดในการรับรู้ข่าวสารข้อมูล เนื่องจากปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ข้างต้น SMEs โดยทั่วไปจึงค่อนข้างมีจุดอ่อนในการรับรู้ข่าวสารด้านต่าง ๆ เช่น นโยบายและมาตรการของรัฐ ข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด ฯลฯ

ผลกระทบต่อ SMEs

จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 2540 ซึ่งเริ่มจากสถาบันการเงินก่อนจะลุกลามไปสู่ธุรกิจเกือบทุกสาขาทั้งกิจการขนาดใหญ่และขนาดเล็กล้วนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคการผลิตที่แท้จริงก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน กลุ่ม SMEs ล้วนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้อำนาจซื้อการบริโภคของประชาชนลดน้อยลงเป็นผลให้กิจการ SMEs ต้องชะลอหรือลดการผลิต การจำหน่ายหรือถึงขึ้นปิดกิจการไปในที่สุด

โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่ม SMEs ที่เป็นการรับช่วงการผลิตจากกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ใช้เทคโนโลยีพึ่งพาจากต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น ส่วนกลุ่ม SMEs ที่พึ่งพาตนเองได้และมักจะใช้ภูมิปัญญาไทยเป็นพื้นฐานมาจากครอบครัวจะสามารถดำรงธุรกิจอยู่ได้ เนื่องจากกลุ่มนี้จะมีความคล่องตัวในเรื่องการจัดการ เทคนิคการผลิต การจำหน่าย ซึ่งมักจะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว เพื่อรับมือกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจได้ดีกว่า กลุ่ม SMEs ที่รับช่วงการผลิตจากบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลาง แต่อย่างไรก็ตามกลุ่ม SMEs โดยทั่วไปก็ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อและการบริโภคที่น้อยลงของประชาชน และมีปัญหาคือสถาพคล่องทางการเงิน ที่กระจายไปทั่วระบบเศรษฐกิจ

หากภาครัฐไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้ก็จะทยอยปิดกิจการไปเรื่อย ๆ กระทั่งกลายเป็นปัญหาเรื้อรังทางเศรษฐกิจและส่งผลต่อปัญหาสังคมในที่สุด

ส่งเสริม SMEs กู้เศรษฐกิจชาติ

การพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งแนวทางการพัฒนาต่อไปในอนาคต ควรจะให้ความสำคัญกับ SMEs มากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่า กิจการขนาดใหญ่จะไม่ให้การสนับสนุนอีกต่อไป แต่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการส่งเสริมกิจการให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยสร้างความแข็งแกร่งให้ SMEs ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีจุดอ่อนโดยการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนด้านต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและให้เกิดความต่อเนื่องเนื่องจากหากกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs มีความแข็งแกร่งสามารถยืนหยัดและแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศได้ก็จะกลายเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป โดยแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนา SMEs อย่างชัดเจนในภาพรวม ดังนี้

1. เพื่อบรรเทาปัญหาของ SMEs ที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน และช่วยพยุงกลุ่ม SMEs ให้ดำรงอยู่รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจมีแนวทางดำเนินการ คือ

ปรับปรุงเพิ่มเติม เสริมแต่งในจุดที่ SMEs มีปัญหา
- เทคโนโลยีการผลิตและการบริหาร
- การตลาด
- การเข้าถึงแหล่งเงินทุน
- การพัฒนาบุคลากร
- การเข้าถึงแหล่งข้อมูล

สร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานของหน่วยงานปฏิบัติการ

สร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สนับสนุนซึ่งกันและกัน
- องค์กรภารัฐ เอกชน ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
- สถาบันอิสระเฉพาะทาง
- สถาบันการศึกษา

2. พัฒนา SMEs ที่ดำเนินการอยู่แล้วให้ขยายตัวเจริญเติบโต และสามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกโดยมีความสามารถเทียบได้กับวิสาหกิจ SMEs ต่างชาติ และสามารถออกไปแข่งขันในต่างประเทศ มีแนวทางดำเนินการคือ

เน้นความเข้มข้นการพัฒนาไปสู่มาตรฐาสสากล
- มาตรฐานคุณภาพสินค้า
- ความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้า และการให้บริการ
- มาตรฐานระบบการบริหารการผลิต เช่น ISO 9000 หรือ ISO 14000
- มาตรฐานสุขอนามัย
- การป้องกันสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
- การคุ้มครองแรงงาน และสิทธิมนุษยชน

เน้นกลไกการสนับสนุนเงินทุน การร่วมทุน (Venture Capital) และการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สำหรับ SMEs
- เพื่อปรับปรุงผลผลิต (Productivity)
- เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรม
- เพื่อปรับปรุงระบบการจำหน่ายและบริการให้รวดเร็ว
- เพื่อขยายกิจการ

3. สร้าง SMEs ที่มีอนาคต มีนวัตกรรม หรือเป็นกลุ่ม SMEs ด้านนโยบายการพัฒนาให้เกิดขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืนมีแนวทางดำเนินการคือ

เน้นในเรื่องข้อมูลข่าวสารการลงทุนสาขาที่มีศักยภาพ
เน้นกลไกการส่งเสริมอย่างใกล้ชิดและครบวงจรในลักษณะการบ่อมเฉพาะ(Incubation)
เน้นกลไกสินเชื่อเพื่อการเริ่มต้นกิจการ (Start-up Loans)
เน้นกลุ่มเป้าหมายด้านนโยบาย เช่น
- กลุ่มผู้มีความรู้และประสบการณ์การทำงาน
- กลุ่มผผู้จบการศึกษาใหม่ที่มีความสามารถเชิงนวัตกรรม
- กลุ่มราษฎร หรือราษฎอิสระ ที่จะจัดตั้งหน่วยผลิต หรือธุรกิจชุมชน




 
 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2011. BOX20-09 - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger