สรุปผลการศึกษาวิจัยธุรกิจเสริมสวย


ลักษณะร้านเสริมสวย
            จากการสำรวจข้อมูลของบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์เวชสำอาง มีการประมาณการจำนวนร้านเสริมสวยอยู่ที่ประมาณ 300,000 กว่าราย จากรายงานการสำรวจธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2543 ทั่วราชอาณาจักร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจร้านเสริมสวยทั้งสิ้น 827 และ 762 แห่ง พบว่า ร้านเสริมสวยส่วนใหญ่มีรูปแบบการจัดตั้งเป็นส่วนบุคคลมากกว่าร้อยละ 90 เมื่อพิจารณาสถิติการจดทะเบียนร้านเสริมสวยของกระทรวงพาณิชย์ พ.. 2547 พบว่ามีประมาณมากกว่า 400 แห่ง

การจัดแบ่งขนาดร้านเสริมสวย
            จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจำแนกร้านเสริมสวยตามจำนวนพนักงาน โดยขนาดขนาดเล็ก มีพนักงานต่ำกว่า  5 คน- ขนาดกลาง มีพนักงาน จำนวน 5-9 คน  และขนาดใหญ่  มีพนักงานมากกว่า 10 คน ขึ้นไป


สภาพแรงงาน
            จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปได้ว่าจำนวนลูกจ้างเฉลี่ยต่อร้านเสริมสวยในปี 2543 ประมาณ 5 คนต่อร้าน และเฉลี่ยการทำงานของช่างเสริมสวย 1 คนอาจบริการให้ลูกค้าได้ 10  - 12 คน ซึ่งแล้วแต่การเข้ามาใช้บริการการเสริมสวยเป็นแบบใดซึ่งใช้เวลาที่แตกต่างกัน  ในด้านค่าตอบแทนช่างเสริมสวยฝึกหัด หรือ ผู้ช่วยในร้านเสริมสวยจะได้รับอัตราค่าตอบแทนโดยประมาณเดือนละ 5,000-6,000 บาท ทำงานวันละประมาณ 9 -10 ชั่วโมง ช่างฝีมือได้รับอัตราค่าตอบแทนเป็นรายหัวโดยแบ่งรายได้กับเจ้าของกิจการประมาณ 40:60 หรือ แล้วแต่เงื่อนไขการตกลงว่าจ้างกับผู้ว่าจ้าง

มูลค่าตลาดภายในและต่างประเทศ
            จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2543 ประมาณมูลค่าตลาดภายในปี 2545 มีมูลค่า 1,104 ล้านบาท สำหรับมูลค่าตลาดต่างประเทศ ภายใต้การประมาณการของกรม        ส่งเสริมการส่งออกประมาณรายได้ของธุรกิจเสริมสวยในร้านระดับดีมีรายได้จากชาวต่างประเทศประมาณ 328.50 ล้านบาทต่อปี สำหรับร้านเสริมสวยระดับกลางมีรายได้จากชาวต่างประเทศประมาณ 41 ล้านบาทต่อปี

การวิเคราะห์อุปสงค์
            สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2545 ถึงร้อยละ 4 และการมีงานทำถึงประมาณ 33 ล้านคน และมีกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยจำนวนถึง 28,797 คน และจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 10.8 ล้านคนจากสถิติ พ.ศ. 2545 ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าอุปสงค์ในประเทศยังคงไม่ถึงจุดอิ่มตัวและมีศักยภาพในการขยายตัวสูง

การวิเคราะห์อุปทาน

            จากการเก็บรวบรวมสถิติร้านเสริมสวยในประเทศไทยนั้น กระทำได้ยากเนื่องจากไม่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องแท้จริง หากพิจารณาข้อมูลสถิติใบอนุญาตประกอบกิจการเสริมสวยในพื้นที่กรุงเทพ พ.ศ. 2545 มีร้านเสริมสวยทั้งสิ้น 759 แห่ง ในขณะที่มีร้านเสริมสวยที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ถึง วันที่ 7 สิงหาคม 2546 จำนวน 479 แห่งทั่วประเทศ

พื้นที่สำรวจ
            พื้นที่สำรวจครอบคลุม 11 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ภูเก็ต สงขลา และประจวบคีรีขันธ์

ผลการวิเคราะห์ผู้ใช้บริการร้านเสริมสวย  
ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เน้นการใช้บริการเกี่ยวกับผมเป็นหลัก และนิยมใช้ประเภทร้าน เสริมสวยครบวงจร เพราะว่าจะสามารถเข้ารับบริการได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันทำให้ประหยัดเวลา โดยใช้บริการทุกเดือน ไม่จำกัดเวลาเข้าใช้บริการ และเลือกร้านที่อยู่ใกล้บ้าน โดยค่าใช้จ่ายต่อครั้งประมาณ 200 บาท (ค่าบริการต่ำสุด 25 บาทต่อครั้ง และค่าใช้จ่ายในบริการสูงสุด 2,000 บาทต่อครั้ง)

รูปแบบบริการที่ผู้ใช้บริการเลือกใช้   
ประเภทของบริการที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ ตัดผม ซอยผม และรองลงมาคือ สระ ไดร์ ช่วงราคาที่เหมาะสมมากที่สุดสำหรับบริการตัดผม ซอยผม คือ 80-150 บาท และ 60-100 บาท สำหรับการบริการสระ ไดร์

ความคาดหวัง หรือ ความต้องการของลูกค้าต่อบริการ  
 ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ เลือกใช้บริการ โดยพิจารณาจากฝีมือของช่าง ราคาเหมาะสม และการให้บริการ และใช้ร้านเสริมสวยที่เป็นร้านประจำ แต่ในกรณีใช้ร้านอื่นเห็นว่าร้านอื่น มีช่างฝีมือดีกว่า หรือ มีคนแนะนำว่าดี ส่วนผู้ใช้บริการที่ไม่ใช้ร้านเสริมสวยร้านใดร้านหนึ่งเป็นร้านประจำเห็นว่าไม่มีความจำเป็นโดยจะใช้บริการก็ต่อเมื่อผมเสียทรงหรือเสริมสวยเพื่อออกงานต่างๆ
 
ผลการวิเคราะห์ผู้ประกอบการ
            ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ดำเนินกิจการแบบบุคคลธรรมดา และมีรายได้อยู่ในช่วง 10,000 - 20,000 บาท และถัดมา คือ ช่วง 5,000 - 10,000  บาท  โดยมีโครงสร้าง รูปแบบ การดำเนินงานของธุรกิจ  ดังนี้   
1. โครงสร้าง/ขนาดร้าน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 34 ตารางเมตร พบว่าขนาดพื้นที่ร้านมีผลต่อการเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการ
2. รูปแบบการลงทุน เงินลงทุนโดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการตัวอย่างทั้งหมดส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 138,707 บาท เมื่อพิจารณาแยกตามขนาดรายได้พบว่าเงินลงทุนเฉลี่ยมีลักษณะที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท ใช้เงินลงทุนโดยเฉลี่ยต่ำสุด คือ 54,857 บาท และผู้ประกอบการที่มีรายได้สูงกว่า 50,000 บาท ใช้เงินลงทุนโดยเฉลี่ยสูงสุด คือ 338,000 บาท รูปแบบการลงทุนส่วนใหญ่เป็นลักษณะการ     ลงทุนภายในประเทศ

3. ลักษณะของธุรกิจ ส่วนใหญ่ไม่มีสาขาย่อย และส่วนใหญ่เปิดร้าน 8.00 น. ปิดร้าน 21.00 น. โดยปิดบริการเฉพาะวันพุธเป็นส่วนใหญ่

โครงสร้างในการลงทุน   
1. ลักษณะของร้าน ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะเช่า ซึ่งค่าเช่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 17,655 บาทต่อเดือน  โดยมีการตกแต่งร้านเอง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 94,170 บาท และผู้ประกอบการที่มีขนาดรายได้สูงกว่า 50,000 บาทต่อเดือนจะมีค่าใช้จ่ายในการตกแต่งเฉลี่ยอยู่ที่ 336,000 บาท
2. แหล่งจัดซื้อส่วนใหญ่จะจัดซื้อจากร้านขายอุปกรณ์เสริมสวยทั่วไป และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในร้าน ส่วนใหญ่เป็นการจัดซื้อด้วยใช้เงินสดและเป็นของภายในประเทศ 

ด้านการตลาดและลูกค้า   กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะมีทั้งชายและหญิง โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนทำงานบริษัท  โดยบริการที่ลูกค้าเลือกใช้ อันดับ 1 ได้แก่ สระ ไดร์ อันดับ 2 ตัดผม ซอยผม และอันดับ 3 คือ อบไอน้ำ  และปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการลูกค้า ส่วนใหญ่ที่เรียงตามลำดับ คือ ผลงานมีคุณภาพที่ดี ราคาถูก และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าตามลำดับ 

ภาวะการแข่งขัน
จำนวนร้านเสริมสวยในบริเวณใกล้เคียงกันส่วนใหญ่จะมีจำนวนโดยเฉลี่ย 6 ร้านต่อแห่ง โดยมีปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ มีร้านคู่แข่งจำนวนมาก ขาดเงินทุนหมุนเวียนและขาดการอบรม    ฝีมือช่างตามลำดับ ซึ่งมีแนวทางในการแก้ไข 3 อันดับแรก คือ อบรมช่างมากขึ้นเพิ่มหรือขยายพื้นที่ร้าน และเพิ่มจำนวนช่างตามลำดับ

จุดแข็ง จุดอ่อนของธุรกิจ
-  จุดแข็ง  3 อันดับแรก คือ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ช่างฝีมือดีและราคาถูก  
- จุดอ่อน 3 อันดับแรก คือ ทำเลที่ตั้งไม่อยู่ในเขตชุมชน ช่างไม่มีชื่อเสียงและไม่ทันสมัยตามแฟชั่น ตามลำดับ

พนักงาน  โดยส่วนใหญ่มีการเข้า-ออกบ่อย  ผู้ประกอบการที่มีขนาดรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานทั่วไป ส่วนผู้ประกอบการที่มีขนาดรายได้มากกว่า 5,000 บาท โดย  ส่วนใหญ่จะเป็นช่างมากที่สุด 

จำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการ  ส่วนใหญ่จะเป็น 10-30 คนต่อวัน  ส่วนผู้ประกอบการที่มีขนาดรายได้มากกว่า 50,000 บาท โดยส่วนใหญ่จะเป็น 31-50 คนต่อวัน ซึ่งสัดส่วนลูกค้าเป็นลูกค้าประจำมากที่สุด 

ความต้องการสนับสนุนจากภาครัฐ  3 อันดับแรก คือ จัดหาแหล่งเงินทุน ส่งเสริมอบรมความรู้ในด้านต่างๆ และบริการจัดหาแรงงานช่างฝีมือ การอบรมที่ต้องการจากรัฐ 3 อันดับแรก คือ การบริหารกระบวนการภายใน การออกแบบทรงผมที่ทันสมัย และการบริหารลูกค้าสัมพันธ์

โอกาสสู่ต่างประเทศ
ส่วนใหญ่คิดว่าไม่มีโอกาสจะขยายสู่ต่างประเทศ ซึ่งมีเหตุผลส่วนใหญ่ที่ คือ มีเงินลงทุนไม่เพียงพอ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่คิดว่ามีโอกาสเนื่องจากฝีมือของช่างเป็นที่ยอมรับ สามารถขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้
-----------------------

สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  กระทรวงพาณิชย์
โทร
. 0 2547-5050 ต่อ 3182

Share this article :
 
 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2011. BOX20-09 - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger